“ซีพี” ยึดตะวันออกเบ็ดเสร็จ ชิงท่าเรือแหลมฉบัง 8 หมื่นล้าน สัมปทาน 35 ปี

ทุนไทย-เทศ 19 รายแห่ซื้อซองประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 8.5 หมื่นล้าน ญี่ปุ่นปะทะจีน “ซี.พี.-อิตาเลียนไทย-ยูนิค” โผล่แจม กองทัพเรือเปิดขายซองอู่ตะเภา 2.9 แสนล้าน ดึงเอกชนร่วมทุน 50 ปี เนรมิตเมืองการบิน 6,500 ไร่ จับตากลุ่มทุนไฮสปีดชิงเค้ก ต่อยอดโครงการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดยื่นซองประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา 224,544 ล้านบาท 12 พ.ย.ที่ผ่านมา มี 2 กลุ่มยื่นซอง คือ 1.กิจการร่วมค้า BSR (บีทีเอส-ซิโน-ไทย-ราชบุรีโฮลดิ้ง) และ 2.กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ซี.พี.), บมจ.อิตาเลียนไทยฯ, บจ.ไชน่า เรลเวย์ฯ, บมจ.ช.การช่าง, และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

ล่าสุดการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดขายทีโออาร์ท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท วันที่ 5-19 พ.ย. 2561 โดยร้อยตำรวจตรีมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังและรักษาการแทนผู้อำนวยการท่าเรือฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลการซื้อซองถึงวันที่ 16 พ.ย.มีเอกชนสนใจ 19 ราย เป็นบริษัทจากประเทศไทยมากกว่าต่างชาติ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้

“มีหลากหลายกลุ่มธุรกิจที่สนใจ จะเปิดยื่นข้อเสนอ 14 ม.ค. 2562 มี 5 ซอง เป็นการลงทุนแบบ PPP Net Cost การท่าเรือจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ 53,490 ล้านบาท เอกชนจะลงทุน 30,871 ล้านบาท พัฒนาท่าเรือและรับสัมปทานบริหาร 35 ปี คาดว่าจะเซ็นสัญญาในเดือน ก.พ. 2562 เสร็จปี 2566 “

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เอกชนซื้อทีโออาร์ 19 บริษัท อาทิ ประเทศญี่ปุ่นมี บจ.อิโตชู คอร์ปอเรชั่น, บจ.มิตซุย คอร์ปอเรชั่นและ บจ.ฟูชิตะ คอร์ปอเรชั่น ประเทศจีนมี บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง, ประเทศไทย เช่น บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง (ซี.พี.), บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บจ.แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินัล, กลุ่มท่าทิพย์ เป็นต้น โดยรวมเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า คาดว่าจะมี 3 กลุ่มที่ยื่นซอง

ขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พื้นที่ 6,500 ไร่ วงเงิน 290,000 ล้านบาท กองทัพเรือเปิดขายทีโออาร์ ถึง29 พ.ย.นี้ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ เนื่องจากเป็นการลงทุนใหญ่ถึง 6 กิจกรรม ได้แก่

1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ชั้นใต้ดินเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง 2.ศูนย์ธุรกิจการค้า การขนส่งภาคพื้น 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ระยะที่ 2 4.เขตพื้นที่การค้าเสรี (คาร์โก้) 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์

และ 6.ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ โดยกองทัพเรือจะลงทุนก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และทางขับให้ 17,768 ล้านบาท เอกชนลงทุนส่วนที่เหลือ 272,232 ล้านบาท ได้รับสัมปทาน 50 ปี รัฐจะได้ผลตอบแทนสุทธิไม่ต่ำกว่า 42,725 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างกล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนเกี่ยวพันกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะมีกลุ่มที่ยื่นประมูลรถไฟความเร็วสูงเข้าร่วมด้วย แต่อาจจะต้องร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่นด้วย เช่น รับเหมาก่อสร้าง การบิน ดิวตี้ฟรี รีเทล อสังหาฯ โรงแรม อาคารสำนักงาน ซึ่งในทีโออาร์กำหนดนอกจากจะมีประสบการณ์ก่อสร้างและบริหารสนามบินแล้ว ยังต้องมีประสบการณ์ด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์หรือนิคมอุตสาหกรรม

โดยคาดว่าคิง เพาเวอร์และกลุ่มเซ็นทรัลที่ชนะประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีและร้านค้าภายในอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา น่าจะสนใจเข้าร่วมด้วย

ด้านนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ และแหล่งข่าวจาก บมจ.อิตาเลียนไทยฯ กล่าวว่า สนใจจะซื้อทีโออาร์สนามบินอู่ตะเภา


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *